การเมืองไทยก็ยังเดินตามรูปแบบเดิม ๆ ต่อไป คือการเจรจาต่อรอง เป็นข้อตกลงที่ซ่อนตัวอยู่หลังฉาก ขณะที่หน้าฉากก็เล่นกันตามบทอย่างจริง ๆ จัง ๆ ชนิดที่ถ้ามีประกวดรางวัลเหมือนแวดวงบันเทิง หลายคนเชือดเฉือนกันไม่ลง เพราะตีบทแตกกระจุยกระจาย
การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ในปีกนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรค กับพรรคเล็กและที่รวมตัวในฐานะกลุ่ม 16 ที่มีนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล เป็นผู้นำกลุ่ม รวมทั้ง ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า ผู้นำตัวจริงของพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งก่อนหน้านี้ และระหว่างการอภิปรายงบประมาณ ปี 66
โดยมีสาระที่มาจากการให้สัมภาษณ์สื่อของแกนนำเรื่องแรก คือจับมือร่วมกันในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 151 ซึ่งต้องมีการลงมติโหวตเสียง
จากนั้น มีสาระอีก 2 เรื่อง พ่วงเข้ามาในวงกินข้าวของตัวแทนจาก 3 ฝ่ายดังกล่าว ตั้งแต่เรื่องโครงการท่อส่งน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี ที่บริษัท อีสท์วอเตอร์ฯ ที่ผูกขาดมานาน 30 ปี แพ้ประมูลให้กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง คู่แข่งหน้าใหม่
เรื่องร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 66 และเรื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับ โดยเฉพาะวิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคเล็กยังพยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย ให้หารด้วย 500 ไม่ใช้ 100
การเคลื่อนไหวแต่ละส่วน ล้วนมีเป้าหมายหลักของตนเอง กลุ่มพรรคเล็กหวังให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่ม เพราะเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวแปรว่าจะรัฐบาลจะไปต่อได้หรือไม่ ด้วยเสียงส.ส.ที่อ้างว่า มีประมาณ 20 เสียง หากเอนเอียงไปทางฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็มีโอกาสชนะ ทั้งนี้ทางกลุ่มพรรคเล็กประเมินออกในระดับหนึ่งว่า รัฐบาลก็แอบวิตกเรื่องเสียงสนับสนุนอยู่ในที
การเจรจาจึงถูกตั้งข้อสังเกต ทั้งในเรื่องต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล โดยไม่ปล่อยให้ต้องเดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งการเลือกตั้งต้องมีใช้ทุนรอน เรื่องโควตาในกรรมาธิการงบประมาณ
นอกจากโป่งจาก 64 เป็น 72 คนแล้ว ยังปรากฏพรรคเล็กไปมีโควตาอยู่ในครม.ด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องวิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลหรือพันธมิตรอย่าง ส.ว. ต้องช่วยออกแรงหนุนวิธีคิดด้วยวิธีหาร 500 แทนที่จะหารด้วย 100 อย่างที่แพ้โหวตในชั้นกรรมาธิการมาแล้ว
กลุ่ม ร.อ.ธรรมมนัส 16-18 เสียง ซึ่งมีความหลังอันปวดร้าวจากการถูกปลดออกจากครม.ของ ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเดือนกันยายน 64 จึงเป็นแค้นฝังหุ่นตลอดกาล
cheepock.com
|