รมว.ดีอีเอส ย้ำเจตนารมณ์กฎหมาย PDPA คุ้มครองข้อมูลประชาชนที่ให้ไว้กับร้านค้า-องค์กรต่างๆ ไม่ให้รั่วไหล ส่วนกรณีภาพหรือคลิปเหตุการณ์ผิดปกติที่ถ่ายเป็นหลักฐานควรส่งให้ผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมาย โพสต์เองเสี่ยงถูกฟ้องร้อง
วันนี้ (10 มิ.ย.2565) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงกรณีที่ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่าหนึ่งในข้อกังวลคือ กรณีพบเห็นเหตุการณ์ผิดปกติแล้วถ่ายภาพหรือคลิปเป็นเป็นหลักฐาน ทำได้หรือไม่นั้น
รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า กรณีนี้สามารถทำได้ แต่ต้องไม่นำมาเผยแพร่หรือโพสต์ด้วยตนเอง โดยควรส่งหลักฐานเหล่านั้นให้ตำรวจหรือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
“การเอาภาพ-คลิปที่ไม่เหมาะสมมาโพสต์หรือแชร์เอง อาจละเมิดสิทธิคนอื่น ซึ่งอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ แต่ถ้าเก็บคลิปนำไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อประโยชน์ในทางคดี อันนี้ทำได้”
พร้อมย้ำว่า กฎหมาย PDPA คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือข้อมูลของประชาชนที่เคยให้กับร้านค้า หน่วยงานต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานต้องเก็บข้อมูลของประชาชนไม่ให้รั่วไหล หากจะนำไปใช้ประโยชน์ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และห้ามนำไปใช้จนทำให้เจ้าของข้อมูลเกิดความเสียหาย ซึ่งคือหลักการสำคัญของกฎหมาย
แต่เรื่องการโพสต์ การแชร์ การให้ข่าวต่างๆ ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ แต่อาจจะผิดกฎหมายอื่น เป็นการละเมิดสิทธิบุคคล มีการฟ้องแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายกัน ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
รมว.ดีอีเอส กล่าวอีกว่า ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูล เมื่อให้ข้อมูลกับบุคคล ร้านค้า หรือหน่วยงานต่างๆ ก็มีสิทธิที่จะไม่ยินยอมให้ร้านค้าหรือหน่วยงานนำข้อมูลที่เป็นความลับหรือข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผย แต่หากนำไปเปิดเผยจะมีความผิดตามกฎหมาย PDPA
vivifybeauty.com
|