ออกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition) จัดเวทีพูดคุยในหัวข้อ การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในซัพพลายเชนอาหาร: การพูดคุยหลังยุคโรคระบาดด้านค่าจ้างเพื่อชีวิต" โดยมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมด้านแรงงานและบริษัทเอกชนระดับโลกร่วมอภิปรายเกี่ยวกับ "ค่าจ้างเพื่อชีวิต" (Living wage) ในฐานะแนวทางแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหาร
โควิด-19 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดเผยว่าวิกฤตค่าแรงมีมานานก่อนโควิด-19 เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำไม่มีการขยับขึ้นมาแล้วหลายปี ขณะที่ค่าครองชีพขยับขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
"แรงงานอาหารทะเลจำนวนมากได้ค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงานเท่านั้น ดังนั้น แรงงานจะได้ค่าจ้างสูงสุดราว 26 วันต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงแรงงานไม่ได้กินข้าวแค่ 26 วัน ต้องกินข้าว 30 วันต่อเดือน พวกเขาควรได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมเพื่อให้มีชีวิตรอด"
การมาของโรคระบาดยิ่งตอกย้ำใหัปัญหาที่มีอยู่แล้วรุนแรงขึ้น สุธาสินีเล่าว่าแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ถูกให้หยุดงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หลายครอบครัวต้องย้ายเข้าไปอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ รวมกันห้องละหลายคน ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพียงพอจากฝั่งนายจ้าง
นายจอห์น ซามูเอล ผู้อำนวยการอ็อกแฟมในภูมิภาคเอเชีย ระบุว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับโลกเช่นกัน ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกอยู่ในระดับที่น่าตกใจอย่างมากด้วยผลกระทบจากโควิด-19 โดยแรงงานผู้หญิงและแรงงานอายุน้อยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
"ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงได้รับกำไรและโบนัสจำนวนมาก แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารกลับได้รับค่าจ้างเพียงน้อยนิด ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพในแต่ละเดือน"
นายจอห์น กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเอารัดเอาเปรียบและไม่ยุติธรรมต่อแรงงาน พร้อมเรียกร้องให้บริษัทเอกชนทั่วโลกให้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับค่าจ้างเพื่อชีวิตให้เป็นจริงโดยเร็ว
windermereportludlow.com
|